เพชรดิบล้นตลาด 4,500 ล้านเหรียญ เหมืองยักษ์ดัมพ์ราคาระบายสต๊อก

FILE PHOTO: Diamonds are pictured during an official presentation by diamond producer Alrosa in Moscow, Russia Ferbuary 13, 2019. REUTERS/Maxim Shemetov/File Photo

ธุรกิจเพชร” เป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เผชิญปัญหายอดขายที่ลดลงอย่างรุนแรงจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่งผลให้ปริมาณเพชรที่ยังไม่ได้เจียระไน หรือ “เพชรดิบ” (rough diamond) ล้นตลาด ซึ่งการถือเพชรดิบเหล่านี้ไว้ นอกจากจะมีต้นทุนในการจัดเก็บแล้ว ยังเผชิญกับความเสี่ยงราคาที่จะลดลงอีกด้วย ดังนั้น บริษัทเพชรยักษ์ใหญ่ของโลกจึงอาจเกิดการเทขายสต๊อกจำนวนมากออกมาเพื่อลดความเสี่ยง

สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ทำลายความต้องการซื้ออัญมณีลงทั่วโลก โดยบลูมเบิร์กรายงานว่า “เดอ เบียร์ส” บริษัทผลิตสำรวจและทำเหมืองเพชรรายใหญ่ของโลก ซึ่งครอบครองเหมืองส่วนใหญ่ในทวีปแอฟริกา ประสบปัญหาไม่สามารถทำยอดขายได้เลยนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2020 เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ร้านจิวเวลรี่ทั่วโลกต้องปิดตัวชั่วคราว

ขณะที่โรงเจียระไนก็ต้องหยุดการผลิต รวมถึงอีเวนต์แสดงสินค้าต่าง ๆ ก็ถูกยกเลิก รายงานยังกล่าวถึง “อัลโรซ่า” บริษัทเหมืองเพชรรายใหญ่ของโลกอีกรายจากรัสเซีย ก็เผชิญกับความยากลำบากเช่นเดียวกัน

แม้ว่าหลายประเทศจะเริ่มควบคุมการระบาดได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมเพชรเริ่มกลับมาดำเนินการบ้างแล้ว โดยพบว่าร้านจิวเวลรี่ในประเทศจีนเริ่มกลับมาเปิดแล้ว ขณะที่โรงงานเจียระไนที่เมือง “สุรัต” ศูนย์กลางการเจียระไนเพชรระดับโลกของประเทศอินเดีย เริ่มกลับมาเดินเครื่องโรงงานที่ระดับ 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ความต้องการซื้ออัญมณียังไม่ฟื้นตัว แหล่งข่าวเปิดเผยกับบลูมเบิร์กว่า เมื่อเดือน พ.ค. 2020 “เดอ เบียร์ส” ได้จัดงานอีเวนต์แสดงสินค้าเปรียบเสมือนงานขายประจำปีของบริษัท แต่สามารถทำยอดขายได้เพียง 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปีที่ผ่านมาที่ขายได้ถึง 416 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“อนิช แอ๊กกอร์วาล” ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท “เจมแด๊กซ์” ที่ปรึกษาธุรกิจในอุตสาหกรรมเพชร กล่าวว่า “ปัจจุบันยังคงไม่สามารถคาดได้ว่าความต้องการซื้อเพชรจะฟื้นตัวในระดับไหน ซึ่งคาดว่าจะไม่ฟื้นตัวในเร็ว ๆ นี้อย่างแน่นอน

และจากดีมานด์ที่ลดลงส่งผลให้สต๊อกเพชรที่ยังไม่เจียระไนล้นมือบริษัททำเหมือง ถึงแม้ว่าบริษัทจะลดกำลังการผลิตแล้วก็ตาม

งานวิจัยจาก “เจมแด๊กซ์” ประเมินว่า ปัจจุบันบริษัทหมืองเพชรรายใหญ่ที่สุด 5 แห่งของโลกมีสต๊อกเพชรดิบส่วนเกินราว 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 4,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนสิ้นปี 2020 คิดเป็นสัดส่วนราว 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตเพชรดิบทั่วโลกทั้งปี

ทั้งนี้ การเก็บสต๊อกเพชรดิบนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาแล้ว ยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการลดลงของราคาอีกด้วย

โดยบลูมเบิร์กอ้างอิงข้อมูลเว็บไซต์ polishedprices.com ระบุว่า ดัชนีราคารวมของเพชรที่ขัดเงาแล้วมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่เมื่อปี 2011 ซึ่งนอกจากจะสร้างผลกระทบต่อโรงเจียระไนแล้ว ยังสร้างแรงกดดันต่อเหมืองเพชรอีกด้วย

เนื่องจากราคาเพชรดิบและเพชรขัดเงามีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก รวมถึงโรงงานเจียระไนยังเป็นธุรกิจกลางน้ำที่เป็นผู้รับซื้อเพชรดิบจากบริษัทผู้ขุดเหมืองเพชร แม้ว่าปัจจุบันเหมืองรายใหญ่ยังไม่มีการเทเพชรดิบออกมา แต่หากบริษัทเหล่านี้เผชิญแรงกดดันไม่ไหวย่อมทำให้เกิดการเทขายสต๊อกออกมาจำนวนมาก

ขณะที่ “อัลโรซ่า” บริษัทเหมืองเพชรสัญชาติรัสเซีย เปิดเผยเมื่อ 5 มิ.ย.2020 ระบุว่า จากดีมานด์ที่ลดลงจะส่งผลให้สต๊อกเพชรที่ยังไม่เจียระไนของบริษัทเพิ่มขึ้นถึง 30 ล้านกะรัต ภายในสิ้นปี 2020

ซึ่งหากพิจารณาถึงต้นทุนและความเสี่ยงด้านราคาแล้ว บริษัททำเหมืองจากรัสเซียรายนี้อาจจำเป็นต้องเทขายเพชรดิบออกมาถึง 15 ล้านกะรัต หรือคิดเป็น 50% ของปริมาณทั้งหมดที่ครอบครอง

ขณะที่บริษัทหมืองขนาดเล็กได้เริ่มระบายสต๊อกออกมาแล้วเนื่องจากมีสายป่านที่สั้นกว่า

โดยพบว่าบริษัทบางแห่งได้ขายเพชรดิบออกมาที่ราคาต่ำกว่าตลาดถึง 25% ตามเมืองศูนย์กลางค้าเพชรต่าง ๆ เช่น เมืองแอนต์เวิร์ป เป็นต้น

หากเหมืองยักษ์ใหญ่ซึ่งครอบครองเพชรดิบจำนวนมากดัมพ์ราคาเทขายสต๊อกออกมา ย่อมสร้างความเสียหายต่อบริษัทเหมืองเพชรอื่น ๆ รวมถึงโรงงานเจียระไน และร้านจิวเวลรี่ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ราคาเพชรทั่วโลกปรับลดลงอย่างรุนแรง