อัญมณีไทย เจียระไนสู่สากล

อัญมณี
อัญมณี

นับตั้งแต่อดีต ที่มนุษย์ค้นพบความงาม ของสิ่งที่ธรรมชาติละทิ้งเอาไว้ใต้ผิวโลก โดยการแปรเปลี่ยนแร่ธาตุให้กลายเป็นอัญมณีอันมีมูลค่า เดิมแร่ธาตุบนโลกของเรานั้นมีมากกว่า 3,000 ชนิด ทว่ามีเพียง 100 ชนิดที่สามารถเจียระไน ขัดเงา แกะสลักรัตนชาติให้เป็นอัญมณีหรือเป็นเครื่องประดับที่มีความสวยงาม สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับผู้คนมากมาย

3 คุณสมบัติสำคัญที่เป็นเหตุผลหลักของผู้บริโภคที่ตัดสินใจเลือกซื้ออัญมณีหรือเครื่องประดับที่ทำจากอัญมณี ได้แก่ ความงาม ความคงทน และความหายาก ซึ่งข้อที่สำคัญที่สุดคือความสวยงามจากสีของอัญมณี จากประกาย หรือจากความใสสะอาดของอัญมณี ซึ่งมีทั้งกลุ่มเพชรคืออัญมณีชนิดมีไม่มีสีและชนิดมีสี และกลุ่มพลอย เช่น ทับทิม ไพลิน มรกต อำพัน เป็นต้น

ด้วยความหลากหลายทำให้อัญมณีมีทั้งสีและประกายที่ต่างกันตามลักษณะเด่นของอัญมณีนั้น ๆ ประกอบกับการเจียระไนอย่างประณีต และการสร้างสรรค์ การประยุกต์เครื่องประดับของช่างที่มีความชำนาญ ทำให้ยิ่งดึงความสวยงามของอัญมณีออกมามากยิ่งขึ้น นอกจากความสวยงามแล้วอัญมณียังขึ้นชื่อเรื่องความคงทนถาวร อันเป็นลักษณะทางเคมีของแร่ต่างๆ รวมถึงระดับความหายากของอัญมณีชนิดนั้น ๆ
ก็จะเพิ่มมูลค่าให้กับอัญมณีได้อีกด้วย

ประเทศไทยเรามีชื่อเสียงในด้านแหล่งอัญมณีและเครื่องประดับมาอย่างยาวนาน จังหวัดที่มีการทำเหมืองแร่อัญมณี เช่น จังหวัดตราด จังหวัดจันทบุรี เป็นต้น ส่วนความรู้เรื่องอัญมณีปรากฏมาตั้งแต่สมัยโบราณ หรือที่พูดต่อๆ กันมา หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่านพรัตน์หรือนวรัตน์กันมาบ้าง ในตำรานพรัตน์กล่าวถึงแก้วอันมีค่าเก้าประการ ประกอบด้วย เพชร ทับทิม มรกต บุษราคัม โกเมน ไพลิน ไข่มุก เพทาย ไพฑูรย์ โดยเป็นที่รู้กันว่ารัตนะเหล่านี้มีความสูงส่ง และมีความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ครอบครอง ไม่เพียงแต่จะนำมาเจียระไนให้เป็นเครื่องประดับเท่านั้น แต่ยังนิยมเจียระไนเป็นพระพุทธรูป ตลอดจนเป็นเครื่องประดับในระดับพระมหากษัตริย์และราชวงศ์อีกด้วย

ในด้านอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเป็นสินค้าส่งออกที่สร้างเม็ดเงินให้กับประเทศเป็นอันดับต้นๆ เสมอมา จากการเปิดเผยของศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ทำให้ทราบตัวเลขของการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยระหว่างเดือนมกราคม-เมษายน 2562 ว่ามีมูลค่าหดตัวลงร้อยละ 8.30 ในหน่วยของเงินบาท หรือมีมูลค่า 3,792.59 ล้านเหรียญสหรัฐ (119,586.73 ล้านบาท) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ที่มีมูลค่า 4,136.04 ล้านเหรียญสหรัฐ (130,482.25 ล้านบาท) อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงและนับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญในอันดับที่ 3 ของประเทศเลยทีเดียว

ตลาดการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญ เช่น ฮ่องกง สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น โดยมีสินค้าหลักในการส่งออกคือเพชรเจียระไน

ขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเช่นกัน เนื่องแร่เหล่านี้เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติที่มีจำนวนจำกัด ใช้แล้วหมดไป จึงมีการนำเข้าอัญมณีจำพวกพลอยเข้ามาเจียระไน สร้างสรรค์เพิ่มมูลค่าสินค้าก่อนการส่งออก ซึ่งตัวเลขการนำเข้าพลอยในไตรมาสแรกของปี 2562 ขยายตัวสูงถึง 3.78 เท่าเลยทีเดียว

ในแง่ของการสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ หน่วยงานรัฐบาลอย่างกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ได้มีการประชาสัมพันธ์ ให้ข้อมูลความรู้ และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ได้แสดงศักยภาพ ซึ่งล่าสุดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ครั้งที่ 64 ระหว่างวันที่ 10 – 14 กันยายน 2562

ที่ผ่านมา ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยมีการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ การสัมมนา การแสดงสินค้าและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และตอกย้ำภาพลักษณ์ของประเทศไทยในด้านการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ

นอกจากนั้นยังมีโครงการที่ส่งเสริมสินค้าและบริการไทยผ่านตราสัญลักษณ์ Thailand Trust Mark (T Mark) ที่สามารถให้การรับรองสำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟชั่นหรือผู้ผลิตอัญมณีได้ด้วย

ซึ่งผู้ประกอบการที่สามารถขอรับตรา T Mark ได้นั้น ต้องมีการผลิตที่ได้มาตรฐานคุณภาพระดับสากลหรือได้รับใบรับรองจากคู่ค้าที่เชื่อถือได้ และมีขั้นตอนการผลิตที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีการดำเนินงานตามมาตรฐานแรงงานไทย และมีความรับผิดชอบต่อสังคมจะทำให้ทั่วโลกไว้วางใจกับสินค้าที่มาจากประเทศไทย

หนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจะต้องมีก่อนการขอรับตรา T Mark คือ ต้องมีการรับรองมาตรฐานในประเทศ และ/หรือ มาตรฐานสากลต่างประเทศ โดยมีเงื่อนไขที่ระบุไว้มีดังนี้ “สำหรับกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ผู้สมัครจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน Buy with confidence (BWC) จากสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (GIT)” องค์การมหาชนนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกอีกด้วย

Buy with confidence (BWC) หรือโครงการซื้อด้วยความมั่นใจ เป็นการรับรองคุณภาพและความเชื่อมั่นของสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับโดยตรง ซึ่งจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ และจำหน่ายสินค้าได้ง่ายขึ้นผ่านระบบ QR CODE ผู้ประกอบการที่ขอรับตราสัญลักษณ์ T Mark ในกลุ่มธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับจึงต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจากโครงการ BWC ก่อน และเมื่อผ่านการรับรองมาตรฐานแล้ว ผู้ประกอบการสามารถนำใบรับรองเพื่อสมัครขอรับตราสัญลักษณ์ T Mark ต่อไป

การผ่านการรับรองมาตรฐานระดับประเทศจนถึงระดับสากลนั้นเป็นการเพิ่มมูลค่าของสินค้า และนอกจากจะได้รับสิทธิประโยชน์อันจะช่วยส่งเสริมธุรกิจให้ส่งออกสินค้าไปสู่ตลาดโลกแล้ว ยังเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับแบรนด์ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงฝีมือของช่างศิลป์ไทยที่มีความละเอียดอ่อน ชำนาญ ประณีตในการสร้างสรรค์เครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์ อีกทั้งยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศในฐานะแหล่งผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของโลกได้อีกด้วย

ร่วมเจียระไนธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของไทยให้บินไกลทั่วโลกไปด้วยกัน ติดตามข่าวสารกิจกรรมหรือต้องการทำความรู้จักกับสัญลักษณ์ T Mark ให้มากขึ้น สามารถสอบถามหรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandtrustmark.com/ หรือ โทร. 02-507-8266