ขนาดของเพชรยิ่งโตราคายิ่งสูงขึ้น น้ำหนักเพชรใช้วัดเป็น CARAT

เพชร

เพชร

ในบทความนี้เรามาดูลักษณะและชนิดของเพชรกันครับ

เพชรเป็นแร่มีรูปร่างผลึก 8 เหลี่ยม หรือ 12 เหลี่ยม มีความโปร่งใส และกึ่งโปรงใส มีประกายแวววาว รอยตำหนิมีเหลี่ยมมุมถาวร ไม่เปลี่ยนแปลง

เพชรมีหลายสี ตั้งแต่ไม่มีสี จนกระทั่งถึงสีดำ ที่เรียกว่า Carbonado สีต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกิดจากมลทินในผลึก ส่วนใหญ่จะพบไนโตรเจน ซึ่งจะพบอยู่ถึงร้อยละ 0.2 นอกจากนี้ยังพบซิลิกอน แมกนีเซียม อะลูมิเนียม เหล็ก แคลเซียม และทองแดง ซึ่งมีอยู่ในปริมาณที่น้อยมาก เพชรที่พบอยู่โดยทั่วไปจะมีสี เหลือง หรือน้ำตาลอ่อน เพชรที่ใสไม่มีสี จะมีราคาสูงที่สุดและเป็นที่นิยม แต่เพชรมีสีนั้นค่อนข้างหายาก เช่น สีชมพู หรือสีน้ำเงิน เช่น Hope Diamond เป็นเพชรที่มีสีฟ้า มีชื่อเสียงมาก และชนิดที่หายากที่สุดคือ Red Diamond

เพชรแบ่งออกได้ 4 ชนิด คือ

ชนิด la มีไนโตรเจน ประมาณร้อยละ 0.1 ได้แก่ เพชร ที่ขุดตามธรรมชาติ
ชนิด lb มีไนโตรเจน ประมาณร้อยละ 0.2 ได้แก่ เพชรสังเคราะห์
ชนิด lla ไม่มีไนโตรเจน ชนิดนี้หายากมาก
ชนิด llb เป็นเพชรที่มี boron อยู่ในผลึกจะมีสีฟ้า หายากมาก

ค่าความแข็งแร่มาตรฐาน Moh’s Scale
เนื่องจากเพชรถูกทับถมอยู่ใต้โลกเป็นเวลานานจึงมีความแข็ง และความหนาแน่นมากที่สุด

ในมาตราส่วนเปรียบเทียบความแข็งของ Moh หรือ Moh’s Scale จะแบ่งแร่ที่มีความแข็งต่างๆ กันเป็น 10 อันดับ กำหนดเป็นความแข็งมาตรฐานแร่ที่แข็งกว่าเพียง 1 ขั้น ก็จะขีดแร่ที่อ่อนกว่า 1 ขั้นเป็นรอยและลบไม่ออก เช่น ถ้าต้องการทดสอบเพชรก็ใช้ทับทิมที่มีความคมมาขีดเพชรดู ถ้าไม่มีรอยก็แสดงว่าเป็นเพชรแท้ แต่ถ้ามีรอยก็เป็นเพชรเลียนแบบ

ค่าความแข็งแร่มาตรฐาน Moh’s Scale
1 ทัลค์ (Talc)
2 ยิปซัม (Gypsum)
3 แคลไซต์ (Calcite)
4 ฟลูออไรต์ (Fluorite)
5 อะพาไทต์ (Apatite)
6 ออร์โทเคลส (Orthoclase)
7 ควอตซ์ (Quartz)
8 โทแพซ (Topaz)
9 คอรันดัม (Corundum)
10 เพชร (Diamond)

แต่ละหน้าผลึกของเพชรมีความแข็งต่างกัน ดังนั้น เพชรสามารถสามารถตัดเพชรได้ นอกจากนี้เพชรมีแนวแตกเรียบ (Cleavage) ซึ่งเป็นรอยแตกตามระนาบในโครงสร้างอะตอมในผลึก เวลาตัดเพชรเม็ดใหญ่ให้เป็นส่วนๆ แนวแตกเหล่านี้จะช่วยได้มาก แต่เวลาเจียระไนต้องระวังไม่ให้กระทบถูกแนวแตกรียบเพื่อไม่ให้เพชรที่ถูกเจียระไนมีตำหนิ

เพชรที่ยังไม่ผ่านการเจียระไนจะไม่มีความแวววาวเป็นประกาย สมบัติของความวาวและเป็นประกาย (Luster & Brilliancy) เรียกกันว่า ไฟ (Fire) ส่วนคุณสมบัติการโปร่งแสงเราเรียกว่า น้ำ (Water of a Diamond) ไฟและน้ำของเพชรขึ้นอยู่กับลักษณะผลึก การเจียระไนและขัดเพชรมีค่าดัชนีหักเห (Refractive Index) และค่าการกระจายแสง (Dispersion) สูง คือ 2.42 และ 0.044 ตามลำดับ เมื่อแสงผ่านเพชรจะเกิดการหักเหของแสงภายในผลึกแล้วสะท้อนออกมามาก และเกิดการแยกแสงสีขาวออกเป็นสีรุ้งเป็นประกาย ความถ่วงจำเพาะของเพชร คือ 3.5

แม้ว่าเพชรจะมีความแข็งมากแต่เปราะ จึงสามารถแตกและบดเป็นผงได้ เพชรจะแตกได้ถ้าได้รับความร้อนอย่างเฉียบพลัน

เพชรเป็นแร่ที่เฉื่อย คือ ไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีชนิดอื่นนอกจาก Oxidizing Agent ในอุณหภูมิสูงๆ และทำปฏิกิริยากับโซเดียมคาร์บอเนต และโซเดียมไนเตรตที่หลอมเหลวที่อุณหภูมิสูง เพชรที่อุณหภูมิห้องเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีที่สุด นอกจากนี้เพชรยังมีการนำความร้อนสูงมาก

การเลือกซื้อเพชร

น้ำหนักของเพชรไม่ได้เป็นตัวกำหนดราคาเพียงอย่างเดียว ต้องพิจารณาคุณสมบัติอื่นๆประกอบด้วย โดยอาศัย 4C ดังนี้

CARAT (น้ำหนัก) ขนาดของเพชรยิ่งโตราคายิ่งสูงขึ้น น้ำหนักเพชรใช้วัดเป็น CARAT ซึ่ง 1 CARAT เท่ากับ 0.200 กรัม (200 มิลลิกรัม หรือ 1/5 กรัม) 1 กรัมเท่ากับ 5 CARAT
COLOR (สี) เกิดขึ้นจากการรวมตัวทางเคมีของธาตุต่างๆ สีของเพชรมีทุกสี แต่ที่มีค่า ได้แก่ สีทึ่ไม่มีสีอื่นเจือปน (Colorless)
LARITY (ความบริสุทธิ์) เพชรแท้ธรรมชาติต้องไม่บริสุทธิ์ 100% ถ้าดูด้วยกล้องขยาย 1,000 เท่า จะมองเห็นเส้นเล็กๆ หรือจุดเล็กๆซึ่งแสดงถึงความไม่บริสุทธิ์ของเพชรธรรมชาติ
CUTTING (การเจียระไน) การเจียระไนมีความสำคัญต่อเพชรมาก ถ้าฝีมือในการเจียระไนสวยจะทำให้เพชรมีประกายสวยขึ้น